เมนู

พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
12. ลักษณะพระฉวีละเอียด

12. ลักษณะพระฉวีละเอียด1

[216] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์ได้เข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ แล้วซักถามว่า ‘ท่านผู้เจริญ อะไรเป็นกุศล
อะไรเป็นอกุศล อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ อะไรควรเกี่ยวข้อง อะไรไม่ควรเกี่ยวข้อง
อะไรที่ข้าพเจ้าทำอยู่พึงเป็นไปเพื่อไม่เกื้อกูล เพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน หรือว่าอะไรที่
ข้าพเจ้าทำอยู่พึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล เพื่อสุขตลอดกาลนาน’ เพราะตถาคตได้ทำ
สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ทำให้กรรมนั้นไพบูลย์แล้ว ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว
มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ มีพระฉวีละเอียด จนละอองธุลี
ไม่อาจติดพระวรกายได้
มหาบุรุษนั้นทรงสมบูรณ์ด้วยลักษณะนั้น ถ้าอยู่ครองเรือนจะได้เป็นพระเจ้า
จักรพรรดิ ฯลฯ เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้อะไร เมื่อเป็นพระราชาจะมีปัญญามาก
บรรดากามโภคีบุคคล ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งมีปัญญาเสมอ หรือมีปัญญาประเสริฐกว่าพระองค์
เมื่อเป็นพระราชาจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ ฯลฯ เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้อะไร
เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงมีปัญญามาก ทรงมีปัญญากว้างขวาง ทรงมีปัญญา
ร่าเริง ทรงมีปัญญาแล่นไป ทรงมีปัญญาเฉียบแหลม ทรงมีปัญญาชำแรกกิเลส
บรรดาสรรพสัตว์ไม่มีผู้ใดผู้หนึ่งมีปัญญาเสมอ หรือมีปัญญาประเสริฐกว่าพระองค์
เมื่อเป็นพระพุทธเจ้าจะทรงได้สิ่งดังกล่าวมานี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเนื้อความนี้
ไว้แล้ว
[217] พระโบราณกเถระทั้งหลาย จึงกล่าวคาถาประพันธ์นี้ในเรื่องลักษณะ
มหาบุรุษนั้นว่า
“มหาบุรุษเคยเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ๆ
ประสงค์จะรู้ทั่วถึง จึงเข้าไปหาบรรพชิต
สอบถาม ตั้งใจฟังด้วยดี มุ่งประโยชน์
ไตร่ตรองเรื่องที่เป็นประโยชน์

เชิงอรรถ :
1 เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ 12

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :176 }


พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฎิกวรรค [7. ลักขณสูตร]
13. ลักษณะพระฉวีสีทอง

อุบัติเป็นมนุษย์ มีพระฉวีละเอียด
เพราะกรรมที่เป็นไปเพื่อได้ปัญญา
บัณฑิตผู้ฉลาดในลางและนิมิต
ทำนายว่า “พระกุมารเช่นนี้
จะทรงหยั่งรู้อรรถอันลุ่มลึกแล้ว
ถ้ามหาบุรุษผู้มีลักษณะเช่นนั้น
ไม่ทรงออกผนวชก็จะหมุนจักรให้เป็นไป
ปกครองแผ่นดินในการสั่งสอนสิ่งที่เป็นประโยชน์
และในการกำหนดรู้ ไม่มีใครประเสริฐหรือเสมอเท่าพระองค์
ถ้ามหาบุรุษผู้มีลักษณะเช่นนั้นทรงออกผนวช
ทรงยินดีในเนกขัมมฉันทะ
จะมีพระปรีชาเห็นแจ้ง
ทรงได้พระปัญญาอันพิเศษอันยอดเยี่ยม บรรลุพระโพธิญาณ
มีพระปัญญาประเสริฐกว้างขวางดังแผ่นดิน”

13. ลักษณะพระฉวีสีทอง1

[218] ภิกษุทั้งหลาย ในชาติก่อน ภพก่อน กำเนิดก่อน ตถาคตเกิดเป็น
มนุษย์ ไม่มีความโกรธ2 ไม่มีความแค้นใจ แม้จะถูกว่ากล่าวอย่างรุนแรงก็ไม่ขัดเคือง
ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่จองล้างจองผลาญ ไม่สำแดงความโกรธ ความคิด
ประทุษร้าย และความเสียใจให้ปรากฏ และเป็นผู้ให้เครื่องลาด มีเนื้อดีอ่อนนุ่ม
และให้ผ้าห่ม ที่เป็นผ้าโขมพัสตร์เนื้อดี ผ้าฝ้ายเนื้อดี ผ้าไหมเนื้อดี และผ้ากัมพล
เนื้อดี เพราะตถาคตได้ทำ สั่งสม พอกพูนกรรมนั้น ฯลฯ จุติจากเทวโลกนั้นแล้ว
มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ได้ลักษณะมหาบุรุษนี้ คือ มีพระฉวีสีทอง คือ คล้ายทองคำ

เชิงอรรถ :
1 เป็นลักษณะมหาบุรุษข้อที่ 11
2 ไม่มีความโกรธ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงละความโกรธได้เด็ดขาดด้วยอนาคามิมรรค แต่หมายถึงสามารถ
บรรเทาความโกรธที่เกิดขึ้นได้เร็วพลัน (ที.ปา.อ. 218/124, ที.ปา.ฏีกา 218/146)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 11 หน้า :177 }